ขั้นตอนการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม
ขั้นตอนที่ ๑ การเขียนสุภาษิตสนามหลวง ต้องเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษสอบให้พอดี โดยเฉพาะคำบาลีนั้นต้องเขียนให้ถูก ระวังจุดพินทุ (จุดใต้พยัญชนะ) นิคคหิต (จุดวงกลมบนพยัญชนะ) อย่าให้หาย และต้องเขียนให้ตรงตัวพยัญชนะ อย่าให้คลาดเคลื่อน ส่วนคำแปลนั้นพึงเขียนจัดวางให้ได้กึ่งกลางของคำบาลี อย่าให้ล้น ไปข้างหน้า หรือเยื้องไปข้างหลังจะดูไม่งาม
ขั้นตอนที่ ๒ การเขียนอารัมภบท คือ ณ บัดนี้…… ให้ขึ้นบรรทัดใหม่ ย่อหน้าประมาณ ๕-๖ ตัวอักษร
ขั้นตอนที่ ๓ ขั้นอธิบายเนื้อความ ให้ขึ้นบรรทัดใหม่ย่อหน้ากระดาษ ต้องให้ตรงกับ ณ บัดนี้
ขั้นตอนที่ ๔ การเขียนสุภาษิตเชื่อม ต้องเชื่อมเนื้่อความของสุภาษิตแรกกับสุภาษิตที่สองให้ถึงกัน เช่น สุภาษิตแรกพูดถึงเรื่องกรรม เราจะยกสุภาษิตเรื่องศีลมาเชื่อม ก็ต้องพูดเรื่องกรรมกับศีลให้เกี่ยวข้องกันว่า ศีลนั้นมีประโยชน์ให้คนทำกรรมอย่างไรหรือเพราะเหตุใด คนต้องอาศัยศีลในการสร้างกรรม เสร็จแล้วให้บอกที่มาของสุภาษิตที่ยกมาอ้างก่อนว่า สมดังสุภาษิตที่มาใน…………..ว่า แล้วจึงเขียนสุภาษิตที่ยกมาเชื่อมไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ
ขั้นตอนที่ ๕ เสร็จแล้ว ก่อนจะอธิบายเนื้อความของสุภาษิตบทเชื่อม ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่
ขั้นตอนที่ ๖ ขั้นตอนการสรุป ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เขียนคำว่า สรุปความว่า…… การสรุปความนั้น ควรสรุปประมาณ ๕-๖ บรรทัดจึงจะพอดี เมื่อสรุปเสร็จแล้ว ให้นำสุภาษิตสนามหลวงมาเขียน ปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๗ ก่อนเขียนสุภาษิตปิดท้าย ให้เขียนคำว่า สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า แล้วนำสุภาษิตสนามหลวง หรือ สุภาษิตบทตั้งมาเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษปิดท้าย
ขั้นตอนที่ ๘ บรรทัดสุดท้าย นิยมเติมคำว่า "มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้" หรือ "เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ" โดยไม่ต้องย่อหน้า